TH I EN
ศีลห้ารักษากันอย่างไร

การประพฤติตามหลักศีล ๕ เป็นการควบคุมตนให้อยู่ในภาวะปกติทั้งกายวาจาใจ ได้แก่
๑.    เว้นจากปาณาติบาต  ละเว้นการฆ่าการสังหาร ไม่ประทุษร้ายต่อชีวิตและร่างกาย
๒.    เว้นจากอทินนาทาน ละเว้นการลักขโมยเบียดบังแย่งชิง ไม่ประทุษร้ายต่อทรัพย์สิน
๓.    เว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร  ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ไม่ประทุษร้ายต่อของรักของหวงแหน อันเป็นการทำลายเกียรติภูมิและจิตใจ ตลอดจนทำวงศ์ตระกูลของเขาให้สับสน
๔.    เว้นจากมุสาวาท ละเว้นการพูดเท็จโกหกหลอกลวง ไม่ประทุษร้ายเขาหรือประโยชน์   สุขของเขาด้วยวาจา
๕.    เว้นจากสุราเมรัย  ไม่เสพเครื่องดองของมึนเมาสิ่งเสพติด  อันเป็นเหตุให้เกิดความประมาทมัวเมา  ก่อความเสียหายผิดพลาดเพราะขาดสติ เช่นทำให้เกิดอุบัติเหตุ แม้อย่างน้อยก็เป็นผู้คุกคามต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยของผู้ร่วมสังคม
(คัดจาก ธรรมนูญชีวิต : พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม  โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ศีล ๕ นี้เป็นคุณธรรมพื้นฐานของพุทธศาสนิกชน  ซึ่งทุกคนมีอยู่แล้วในตน  บางคนมีครบทั้ง ๕ ข้อ บางคนมีครบบ้างไม่ครบทุกข้อบ้าง แล้วแต่บุญรักษา พอคนไหนศีลขาดก็ไปขอศีลกับพระ    เป็นเหตุให้พระภิกษุท่านต้องให้ศีลอยู่เนือง ๆ

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์  ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ให้ความสำคัญกับการรักษาศีล ๕ เป็นอย่างมาก  ท่านกล่าวว่าศีล ๕ เป็นหลักธรรมที่สร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้คน      ในชาติ  ท่านจึงทุ่มเททั้งกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ให้ช่วยกัน จัดโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ ขึ้นมาโดยมุ่งหวังให้ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชนได้ละเว้นจากอบายมุข สิ่งให้โทษต่อร่างกายและกระทบต่อสังคม เมื่อใดที่คนไทยยังมีสติ ความปรองดองสมานฉันท์ก็ไม่ขาดหายไป

สมเด็จพระวันรัต  วัดบวรนิเวศวิหาร กล่าวว่าศีลนั้นมีอยู่ในตัวตนของทุกคน แม้ไม่ต้องขอศีลต่อพระภิกษุ พุทธศาสนิกชนก็มีศีล ๕  เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว  ตัวอย่างเช่น หากเรามีจิตใจดีต่อเพื่อนมนุษย์ ไม่คิดร้ายพยาบาทจองเวรไม่เข่นฆ่ากัน  ย่อมสามารถรักษาศีลข้อที่ ๑ ได้  ถ้าเห็นของที่ไม่ใช่ของตนไม่เอามาเป็นสมบัติของตน  ก็รักษาศีลข้อ ๒ ได้  หรือศีลข้ออื่น ๆ ก็เช่นกัน  ศีลจึงมีอยู่แล้วในตนเอง และเมื่อรักษาศีลได้  จิตย่อมบังเกิดสมาธิ และมีปัญญาขึ้นตามมา ศีล  สมาธิ  ปัญญา  ทำให้เราไม่ประมาทในชีวิต ปัญหาสังคมและอาชญากรรมต่าง ๆ ล้วนเกิดจากละเมิดศีล ๕ ทั้งนั้นไม่พ้นไปกว่านี้

ชาวบ้านอย่างเราหันหน้ามาเถียงกันว่า ศีล ๕ ข้อใดสำคัญมาก  สำคัญน้อยกว่ากัน คนหนึ่งบอกว่า  ปาณาติบาต สำคัญที่สุด  เพราะว่านอกจากเป็นศีลข้อที่ ๑ ซึ่งมาก่อนข้ออื่นแล้ว  ถ้าไม่ฆ่ากัน  มีเมตตาต่อกัน  สังคมก็สงบสุข  อีกคนบอกว่า  ข้อ ๕ เว้นจากสุราเมรัย นั้นสำคัญที่สุด  เพราะว่าสุราดื่มแล้วทำให้มัวเมาขาดสติสัมปชัญญะ เกิดความประมาท  เป็นเหตุให้ศีลข้ออื่น ๆ ขาดตามไปด้วย  เช่น เมาแล้วทะเลาะวิวาท อาจถึงกับเข่นฆ่ากัน  อีกคนเถียงว่า  คนเมาไม่มีเวลาไปคิดทำผิดเรื่องอื่นใด  เพราะมัวแต่เมาเลยเอาตัวไม่รอด  ส่วนอีกคนบอกว่าศีลข้อ ๓ สำคัญกว่าใคร เพราะศีลข้ออื่นก็แค่ตนเองเดือดร้อน แต่ข้อที่ ๓ ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ทุกวันนี้ยังเถียงกันไม่จบ

ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาตินั้นได้รับสนองงานมหาเถรสมาคมในการสนับสนุนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕  ต่อเนื่องตลอดมา  โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดทุกจังหวัดได้รับเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนและประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนและยังจัดตั้งกลุ่มไลน์  “ขับเคลื่อนศีล ๕ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด ๗๖”  ขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกันตามปณิธานของ  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์

ดร.สมชาย   สุรชาตรี
ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โฆษกประจำสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
๒๘  เมษายน ๒๕๕๘
Email : surachatri@yahoo.com

 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 30,288,384