การสร้างวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อผู้มีจิตศรัทธาได้รับอนุญาตให้สร้างวัดแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การขออนุญาตตั้งวัด เพื่อทำให้วัดที่ได้รับอนุญาตให้สร้างขึ้นเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย
วัดที่ขออนุญาตจะต้องเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดนั้น มีเสนาสนะสิ่งปลูกสร้างแล้วเสร็จตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง มีความเหมาะสมที่จะเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์
แจ้งจำนวนพระภิกษุจำพรรษาไม่น้อยกว่า ๔ รูป และให้เสนอชื่อผู้ที่จะเป็นเจ้าอาวาสด้วย โดยต้องมีอายุ ๕ พรรษาขึ้นไป มีคุณสมบัติเหมาะสมในตำแหน่งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕
ในการเสนอรายงานขอตั้งวัด จะต้องระบุชื่อวัดที่ขอตั้ง พร้อมชี้แจงเหตุผลประกอบในรายงานขออนุญาตตั้งวัดให้ชัดเจน กะทัดรัด เข้าใจง่าย มีความหมาย
เพื่อให้การตั้งชื่อวัดเป็นไปแนวทางเดียวกัน มหาเถรสมาคมได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การตั้งชื่อวัดไว้ดังต่อไปนี้
๑. ให้ตั้งชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้าน ตามนโยบายของมหาเถรสมาคม โดยให้ตัดคำว่า บ้าน”ออก ยกเว้นชื่อหมู่บ้านที่มีพยางค์เดียว ให้ใช้คำว่า บ้าน....”ได้ กรณีมีชื่อวัดตามชื่อหมู่บ้านแล้ว ให้พิจารณาชื่อวัดที่ผู้เสนอขอตั้งวัดเสนอมา
๒. กรณีเสนอขอตั้งชื่อวัดตามชื่อภูเขา ถ้ำ หรืออื่น ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ให้พิจารณาตั้งชื่อวัดตามที่เสนอไว้
๓. กรณีเสนอขอตั้งชื่อวัด ตามชื่อสกุลของผู้ที่ยกที่ดินให้สร้างวัด หรือเพื่อเป็นเกียรติแก่บิดา มารดา ของผู้ที่ยกที่ดินให้สร้างวัด หรือระลึกถึงผู้นำในการสร้างวัดให้พิจารณาตั้งชื่อวัดได้ ตามที่เสนอ
๔. กรณีที่ดินที่ตั้งวัดเป็นที่ดินของส่วนราชการ ถ้าในหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินระบุชื่อวัด ให้ตั้งชื่อตามชื่อที่ปรากฏในหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินเพื่อสร้างวัด ยกเว้นเพื่อความเหมาะสมหรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้ชื่ออย่างอื่น เมื่อประกาศตั้งวัดแล้วให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือเจ้าอาวาสแจ้งให้ส่วนราชการผู้ออกหนังสืออนุญาตทราบ
๕. กรณีที่ดินที่ตั้งวัด มีการออกเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ก่อนได้รับอนุญาตให้สร้างวัดและตั้งวัด ให้ตั้งชื่อวัดตามชื่อที่ปรากฏในเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตั้งวัด ยกเว้นเพื่อความเหมาะสมหรือมีเหตุจำเป็นต้องใช้ชื่ออย่างอื่น เมื่อประกาศตั้งวัดแล้ว ให้เจ้าอาวาสดำเนินการยื่นแก้ชื่อวัดในเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
๖. กรณีเสนอขอตั้งชื่อวัดโดยใช้คำว่า วัดป่า....”นำหน้า ให้พิจารณาว่าอาณาบริเวณที่ดินที่ตั้งวัดมีสภาพเป็นป่าที่ร่มรื่นหรือไม่ หากมีสภาพเป็นป่าที่ร่มรื่นให้พิจารณาใช้ชื่อว่า วัดป่า.......”นำหน้า หรือ ........... วนาราม”ต่อท้ายได้
๗. ไม่สมควรตั้งชื่อวัดโดยใช้คำว่า วรวราราม”หรือ วราราม”ต่อท้าย
๘. การตั้งชื่อวัดไม่ควรเกิน ๗ พยางค์ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น
๙. การตั้งชื่อวัด เมื่อได้รับการตั้งชื่อวัดจากมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองการตั้งชื่อวัดเรียบร้อยแล้ว ขอให้วัดปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการ ฯ ดังกล่าว โดยเคร่งครัด
ดร.สมชาย สุรชาตรี
ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โฆษกประจำสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
๒๓ มีนาคม ๒๕๕๘
Email : surachatri@yahoo.com