TH I EN
การปกครองคณะสงฆ์ไทย

คณะสงฆ์ไทย หมายถึง บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕

พระภิกษุมีศีล ๒๒๗ ข้อเป็นเครื่องกำกับวัตรปฏิบัติ พระภิกษุทุกรูปอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม ซึ่งได้วางกฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไว้เป็นลำดับขั้นการปกครองและการปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนทุกชั้นมีเจ้าคณะมหานิกายและเจ้าคณะธรรมยุตปกครองบังคับบัญชาวัดและพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้น เช่น คณะธรรมยุตมีเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตปกครอง ส่วนคณะมหานิกายแบ่งการปกครองออกเป็น ๔ หน คือ เจ้าคณะใหญ่หนหลวง เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก  เจ้าคณะใหญ่หนใต้

ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งได้กระจายอำนาจการปกครองออกเป็นส่วน ๆ  ดังนี้

ส่วนที่ ๑ ภาค มีเจ้าคณะภาคดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ในเขตภาคของตนให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม  ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
ส่วนที่ ๒ จังหวัด มีเจ้าคณะจังหวัดปกครอง (เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ)
ส่วนที่ ๓ อำเภอ มีเจ้าคณะอำเภอปกครอง (เจ้าคณะเขตในกรุงเทพมหานครและเจ้าคณะอำเภอทั่วประเทศ)
ส่วนที่ ๔ ตำบล มีเจ้าคณะตำบลปกครอง (เจ้าคณะแขวงในกรุงเทพมหานครและเจ้าคณะตำบลทั่วประเทศ)

อำนาจหน้าที่สำคัญของเจ้าคณะตำบล นอกจากการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงามแล้ว ยังมีหน้าที่ระงับอธิกรณ์  วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือ คำวินิจฉัยชั้นเจ้าอาวาส แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าอาวาสให้เป็นไปโดยชอบ ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าอาวาสและพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชาหรือผู้อยู่ในปกครองของตน ตรวจการและประชุมพระสังฆาธิการ ในเขตการปกครองของตน

หากเราเรียงลำดับการปกครองคณะสงฆ์ จากล่างขึ้นบน  เป็นดังนี้
ตำบล  ปกครองดูแลวัด (เจ้าคณะตำบลดูแลหลาย ๆ วัด)
อำเภอ  ปกครองดูแล ตำบล (เจ้าคณะอำเภอดูแลหลาย ๆ ตำบล)
จังหวัด  ปกครองดูแล อำเภอ  (เจ้าคณะจังหวัดดูแลหลาย ๆ อำเภอ)
ภาค  ปกครองดูแลจังหวัด (เจ้าคณะภาค ดูแลหลาย ๆ จังหวัด)
หน  ปกครองดูแลภาค (เจ้าคณะใหญ่  ดูแล ภาคหลายๆ ภาค)
มหาเถรสมาคม  ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในภาพรวม

หันกลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน มักตั้งคำถามกันว่ามีปัญหาเกิดขึ้นกับวัดกับความประพฤติของเจ้าอาวาสที่ผิดกฎหมายผิดพระธรรมวินัย  ทำไมมหาเถรสมาคมไม่ลงมาจัดการเรื่องนี้หากพิจารณาถึงสภาพปัจจุบัน ประเทศไทยมีวัดจำนวน ๓๙,๔๘๑ วัด (ข้อมูล ณ  มีนาคม ๒๕๕๘) ถ้านำเรื่องเกี่ยวกับวัดทุกเรื่องเข้าสู่มหาเถรสมาคม อาจจะผิดขั้นตอนการปกครองคณะสงฆ์และไม่เป็นไปตามระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ที่กำหนดไว้แล้วในกฎมหาเถรสมาคม

ตัวอย่างเช่น

พระภิกษุ ก. ถูกกล่าวหาว่าเป็นปาราชิกเพราะมีเพศสัมพันธ์กับนาง ข.
เรื่องนี้ เมื่อนาง ข.มาฟ้องเจ้าอาวาส ก็ถือเป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องดำเนินการชำระสะสางคดีความในวัดให้เป็นที่เรียบร้อย ไม่ต้องแจ้งมหาเถรสมาคมให้ลงมาสอบสวนแต่อย่างใด

การที่พระภิกษุ ก. ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกข้อหาปาราชิก เจ้าอาวาสจำต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นชำระอธิกรณ์ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พศ. ๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม ทำไมต้องตั้งคณะกรรมการก็ในเมื่อ นาง ข. ผู้เสียหายกล่าวโทษอยู่แล้ว เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะโทษปาราชิกข้อหาเสพเมถุนนั้น ถ้าไม่ปรากฏชัดแจ้งหรือพบเห็นทันทีทันใดในขณะนั้น เมื่อเจ้าอาวาสสอบถามพระภิกษุ ก. แล้วไม่ยอมสารภาพ เจ้าอาวาสก็ต้องตั้งกรรมการขึ้นพิจารณาให้แจ่มชัด เพราะโทษปาราชิกนี้ผู้ใดถูกกล่าวลงโทษก็เหมือนกับประหารชีวิตความเป็นพระภิกษุและจะกลับมาบวชอีกไมได้

ขณะที่การไต่สวนตามกฎนิคหกรรม กำลังจะเริ่มกระบวนการ ปรากฏว่า นาง ข.ได้ไปแจ้งคดีอาญาต่อศาล กล่าวหาพระภิกษุ ก. กระทำการข่มขืนตน ศาลประทับรับฟ้อง

ตามกฎมหาเถรสมาคมว่าด้วยการลงนิคหกรรมนั้น ถ้าเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา ของศาลฝ่ายราชอาณาจักร การพิจารณาของคณะสงฆ์จะชะลอเพื่อรอการพิจารณาทางอาณาจักรก่อน

เมื่อศาลฝ่ายราชอาณจักรไต่สวน ปรากฏว่าพระภิกษุ ก.และนาง ข. รับสารภาพว่า มีความชอบพอกันในขณะนั้น การร่วมเพศเกิดจากการสมยอมกัน มิใช่บังคับข่มขืนใจ ศาลสั่งยกฟ้อง

จึงกลับมาสู่กระบวนการไต่สวนตามกฎนิคหกรรม ซึ่งคณะกรรมการฝ่ายสงฆ์เห็นว่า พระภิกษุ ก. เป็นปาราชิก เหตุเพราะได้ร่วมเพศจริงโดยสมยอมกัน ไม่จำเป็นต้องสอบสวนตามกฎนิคหกรรมก็ย่อมปาราชิกไปแล้ว

ดร.สมชาย   สุรชาตรี
ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
โฆษกประจำสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
๑๐  มีนาคม ๒๕๕๘
Email : surachatri@yahoo.com

 
 
 
 

Website Policy | Privacy Policy | Security Policy | Disclaimer | ข้อกำหนดการใช้ Cookies รองรับการทำงานบน Internet Explorer v.11+, Microsoft Edge, Firefox v.47.0+, Chrome v.51+

จำนวนการเข้าชม : 30,288,384